8 วิธีบริหารหัวหน้างาน


People join companies, but leave managers. เพราะนี่คือความจริงที่พนักงานออฟฟิศหลายแห่ง ไม่สามารถอยู่ทำงานได้ยาวนาน เพราะทนหัวหน้างานไม่ได้
คำถามก็คือ จะทำอย่างไรในเมื่อยังอยากทำงานในบริษัทนี้อยู่ ลองมาเรียนรู้วิธีบริหารหัวหน้ากันดีกว่า เชื่อเถอะว่า การเป็นลูกน้องที่บริหารหัวหน้าได้ ช่างมีความสุข และสนุกกับการทำงานมากขนาดไหน

1. รู้สไตล์ รู้ใจหัวหน้า
การรู้สไตล์การทำงานของหัวหน้า หรือรู้ใจหัวหน้า ไม่ใช่เป็นการประจบประแจงแต่อย่างใด แต่เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้รู้ว่า คุณควรเข้าหา พูดคุย หรือนำเสนองานในรูปแบบใด เช่น หากเจ้านายเป็นคนทำงานละเอียด มีความรู้รอบด้านในเรื่องงาน ก่อนจะเข้าไปปรึกษาหารือ คุณก็ควรเตรียมข้อมูลให้มากเช่นกัน ซึ่งหัวหน้าจะทราบทันทีเลยว่า การเข้ามาปรึกษางานครั้งนี้ คุณได้ทำการบ้านมาดีแค่ไหน นอกจากจะได้งานแล้ว ยังได้ใจหัวหน้าไปเต็มๆ อีกด้วย

2. สรุปงานให้เคลียร์
ทุกครั้งที่ได้รับมอบหมายงานใหม่ ๆ ขอให้พูดคุยรายละเอียดงานให้เคลียร์ก่อนเริ่มทำงานทุกครั้ง ทั้งเรื่องความคาดหวังในชิ้นงาน KPI ชี้วัดความสำเร็จ หรือ Deadline ที่ต้องการ เพื่อเช็คชัวร์ให้กระจ่างว่า ทั้งคุณและหัวหน้ามีความเข้าใจ และเป้าหมายที่ตรงกัน เมื่อถึงวันนำเสนอชิ้นงาน คุณก็จะได้งานที่มีประสิทธิภาพตรงใจ หัวหน้าก็ไม่เหนื่อยที่จะต้องมาแก้ไขงานคุณเช่นกัน

3. เสร็จก่อน มีสิทธิ์ก่อน
สำหรับโปรเจ็กต์ใหม่ๆ หรืองานชิ้นสำคัญ คุณควรทำให้เสร็จก่อนเวลาสักเล็กน้อย เพื่อให้หัวหน้าตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยอีกครั้ง หากพบข้อบกพร่องตกหล่นใด คุณจะได้แก้ไขได้ทันเวลา ซึ่งย่อมดีกว่าทำงานแบบไร้ทิศทางในเวลาที่เร่งรีบ เห็นมั้ยล่ะว่า การทำงานเสร็จก่อนนั้นมีประโยชน์มากแค่ไหน งานแผนกก็ออกมาดี หัวหน้าก็แฮปปี้ในความตั้งใจของคุณ

4. นาฬิกาเตือนความจำ
แน่นอนว่า หัวหน้าอาจมีงานยุ่งขิงตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นประชุมรวมของบริษัท ประชุมติดตามงานของแผนก หรือเตรียมงานนำเสนอลูกค้าอีกมากมาย การที่คุณได้ช่วยบริหารเวลาเตือนความจำในเรื่องสำคัญ ๆ เช่น การนัดหมายกับลูกค้า วันนำเสนอโปรเจ็กต์ของแผนก ก็ทำให้หัวหน้ารู้สึกว่า คุณให้ความสำคัญและใส่ใจกับเรื่องราวเหล่านี้ และควรเตือนด้วยวิธีแนบเนียนแบบพูดคุย หรือถามไถ่ ไม่ใช่เป็นการเตือนด้วยน้ำเสียงขึงขัง คะยั้นเอาความ ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า การเตือนของคุณควรเป็นเรื่องที่สำคัญจริง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่เตือนไปเสียทุกเรื่องราวกับเป็นนาฬิกาปลุกส่วนตัว ไม่เช่นนั้นจากที่ต้องการช่วยบริหารเวลาสร้างความประทับใจอาจกลายเป็นสร้างความรำคาญใจเสียมากกว่า

5. ที่ปรึกษายามคับขัน
จะต้องมีบางครั้งที่หัวหน้าของคุณต้องตกอยู่ในภาวะคับขันแก้ปัญหางานไม่ได้ หากคุณมีความรู้ในเรื่องดังกล่าว ขอให้หยิบยื่นน้ำใจเข้าไปช่วยเหลือจัดการ หรืออย่างน้อยเป็นที่ปรึกษาในสถานการณ์นั้นๆ นอกจากจะช่วยให้หัวหน้ารู้สึกผ่อนคลายลง เขาจะเห็นน้ำใจที่น่ารักน่าศรัทธาในตัวคุณไม่น้อยทีเดียว

6. Feedback ที่ดี
ทราบหรือไม่ว่า หัวหน้าทุกคนก็ต้องการฟัง feedback ในการบริหารงานจากลูกน้องเช่นกัน เพื่อปรับปรุงให้การดูแลทีมงานเป็นไปอย่างราบรื่นนั่นเอง ในฐานะที่คุณเป็นลูกน้องคนหนึ่ง อาจหาช่วงจังหวะเวลาเหมาะๆ ในการเปิดใจแลกเปลี่ยน feedback ของคุณกับหัวหน้าดู นอกจากจะเป็นแนวทางที่ดีในการรับรู้ปัญหาของกันและกันแล้ว ยังช่วยปรับความเข้าใจในการทำงานให้ตรงสไตล์ และสร้างสัมพันธภาพให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

7. ไม่ปากหนัก
การรู้จักกล่าวคำทักทาย ขอบคุณ ขอโทษ ชื่นชม หรือให้กำลังใจหัวหน้า ตามวาระโอกาสที่เหมาะสม ถือเป็นเรื่องที่ดีในการทำงาน โดยเฉพาะเมื่อคุณทำงานผิดพลาด แล้วกล่าวขอโทษอย่างกล้าหาญ พร้อมแก้ไขอย่างทันควัน เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้หัวหน้าไม่โกรธคุณแล้ว เขายังเห็นความจริงจังจริงใจในการทำงานของคุณอีกต่างหาก

8. ไม่นินทา
คงไม่มีใครชอบถูกนินทาอย่างแน่นอน และคงไม่ดีแน่หากคุณกลายเป็นคนนินทาหัวหน้าเสียเอง เพราะเมื่อวันใดที่คำนินทาลอยไปเข้าหูหัวหน้าของคุณเข้า รับรองเลยว่า สัมพันธภาพระหว่างคุณกับหัวหน้าคงจบสิ้นลงในวันนั้นอย่างแน่นอน แต่ในทางกลับกันหากคุณได้ยินคนอื่นกำลังกล่าวหานินทาหัวหน้าอยู่ ขอให้แก้ไขสถานการณ์โดยอธิบายให้เป็นเรื่องดี ไม่คอยเป็นคนเสริมใส่สีตีไข่ให้เป็นเรื่องแย่ไปกว่าเดิม จากสถานการณ์ร้ายๆ ก็จะกลายเป็นความรู้สึกดีที่มีต่อกัน

เห็นมั้ยล่ะว่า การบริหารหัวหน้างานได้อย่างถูกหลักถูกวิธี ก็ทำให้ชีวิตการทำงานของคุณมีความก้าวหน้า เติบโตไม่น้อยทีเดียว ถึงแม้จะต้องเป็นลูกน้องไปทั้งปี ชีวิตก็แฮปปี้ในสิ่งที่เป็นอย่างแน่นอน

ที่มา : th.jobsdb.com
บทความอื่นๆ เพิ่มเติม ได้ที่ www.impressionconsult.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

5 มิติคุณภาพบริการ

10 มิติคุณภาพบริการ

เทคนิคมีบุคลิกภาพที่ดีในที่ทำงาน