พนักงานแบบนี้..สมควรให้ออก


บริษัทคือแหล่งที่รวบรวมผู้คนจากต่างเพศ ต่างวัย และต่างสาขาอาชีพเข้ามารวมอยู่ไว้ในที่แห่งเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าการที่บริษัทกลายเป็นที่ชุมนุมของคนที่มีพื้นฐานและต้นทุนทางสังคมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงขนาดนั้นย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นมากเป็นธรรมดาทางออกที่ดีที่สุดโดยเป็นการพบกันฝ่ายละครึ่งทางระหว่างผู้ประกอบการและลูกจ้างก็คือการวางกฎระเบียบในการทำงานพร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษเมื่อมีผู้ฝ่าฝืนกฎ สาเหตุที่ต้องทำเช่นนั้นก็เพื่อให้การดำเนิงานภายในบริษัทสามารถเป็นไปได้อย่างราบรื่นที่สุดและจะเป็นตัวฉุดให้ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นตามลำดับด้วย โดยพฤติกรรมของพนักงานที่ถือว่าเป็นอันตรายไม่ควรเกิดขึ้นในสถานที่ทำงานเป็นอันขาดและสมควรต้องมีบทลงโทษด้วย มีดังต่อไปนี้

1. มาสาย นอนหลับ โทรศัพท์ กลับก่อน
พฤติกรรมที่กล่าวมาทั้ง 4 อย่างนี้ถือเป็นเรื่องยอดฮิตในหมู่พนักงานโดยเฉพาะบรรดาวัยรุ่นทั้งหลายที่ยึดเอาตัวเองเป็นแกนหลักในการทำงาน โดยบางบริษัทอาจจะไม่คิดอะไรมากและปล่อยให้สิ่งดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติเพราะใช้การปกครองแบบเพื่อนและครอบครัว ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผิดและบริษัทใหญ่ที่มีการดำเนินงานในลักษณะของมืออาชีพจะไม่ทำกัน อีกทั้งยังเคร่งครัดในเรื่องนี้ให้มากขึ้นเป็นพิเศษอีกด้วยสาเหตุก็เนื่องมาจากพฤติกรรมมาสาย นอนหลับ โทรศัพท์ กลับก่อน เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้การดำเนินงานในบริษัทมีความล่าช้าไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจภายนอกได้ นอกจากนี้ยังเป็นต้นเหตุให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบขึ้นภายในบริษัทซึ่งจะทำให้เสียการปกครองในที่สุด โดยความผิดนี้ยังไม่ค่อยร้ายแรงมากนักบทลงโทษที่เหมาะสมจึงสมควรอยู่ที่การว่ากล่าวตักเตือนและภาคทัณฑ์ก็น่าจะเพียงพอ

2. ทำงานล่าช้า ผลัดวันประกันพรุ่ง
เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่มีให้พบเห็นได้เป็นจำนวนมากตามบริษัททั่วๆไป และเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจค่อนข้างมาก เพราะการที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำงานไม่เสร็จตามเงื่อนไขของกำหนดเวลาที่วางไว้จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในลักษณะของลูกโซ่ที่เกิดขึ้นทั้งบริษัทจนทำให้ไม่สามารถต่องานกันได้ อีกทั้งเสียเวลาดำเนินงานมากจนเกินไปอันนำมาซึ่งผลเสียทางธุรกิจในที่สุด บทลงโทษที่ดีที่สุดจึงมีอยู่ 2 ขั้นตอน คือ เรียกมาตักเตือนก่อนถ้ายังไม่ดีขึ้นให้เพิ่มระยะเวลาการทำงานของพนักงานคนดังกล่าวให้มากขึ้นหรือให้ทำจนกว่าจะเสร็จนั่นเอง ไม่ควรไล่ออกอย่างเด็ดขาดเพราะจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมและทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิมอีกด้วย

3. ทำงานผิดพลาดบ่อยจนเกิดความเสียหาย
ถึงแม้ปัญหาดังกล่าวนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก แต่ทุกครั้งที่มันเกิดขึ้นคราวใดมักจะสร้างความเสียหายให้มากกกว่าในทุกกรณีที่กล่าวมา ซึ่งปัญหาประเภททำงานผิดพลาดขาดตกบกพร่องหรือนับเงินผิดทำเงินหาย ดังนั้นทางแก้ที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้ความผิดพลาดของการทำงานในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็คือ ให้พิจารณาตัดเงินเดือนพนักงานเพื่อมาชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าที่เกิดขึ้นจริงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดและช่วยให้พนักงานมีความระมัดระวังมากขึ้นด้วย

4. ปัญหาเรื่องชู้สาว
ถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องส่วนตัวแต่เมื่อใดก็ตามที่ปัญหานี้เกิดขึ้นภายในบริษัทนั่นหมายถึงมันก็คืออุปสรรคในการทำงานด้วย เพราะเรื่องนี้จะส่งผลเสียต่อการบริหารงานค่อนข้างมากในเรื่องของความเป็นมืออาชีพและทัศนคติในการทำงานที่อาจจะมีแง่บวกถ้าหากถูกใจกำลังคบกันอยู่และแง่ลบหากเลิกลากัน ซึ่งเป็นสิ่งที่แย่มากเพราะจะทำให้การตัดสินใจในทางธุรกิจขาดความเป็นกลางอย่างสิ้นเชิงเพราะถูกความรักบังตาทำให้เห็นผิดเป็นถูกและถูกเป็นผิดเสมอๆ โดยแนวทางการแก้ไขคือเรียกคู่พนักงานที่มีปัญหาในเรื่องดังกล่าวมาพูดคุยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้ขึ้นอีก แต่ถ้าพูดแล้วยังไม่ฟังจนปัญหาบานปลายเกิดเรื่องที่ไม่เหมาะสมขอแนะนำให้พักงานทั้งคู่เสียโดยทันที

5. ดื่มสุราในขณะเวลางาน
ในอดีตเรื่องนี้อาจจะเกิดขึ้นกับพนักงานผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันเรื่องนี้ได้ครอบคลุมมาถึงสุภาพสตรีด้วย ซึ่งมักมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งสำหรับบริษัทที่มีขนาดไม่ใหญ่โตนักและมีพนักงานของบริษัทเป็นผู้ใช้แรงงานเสียส่วนใหญ่ โดยปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานอย่างรุนแรงและยังอาจเป็นอันตรายต่อเพื่อนร่วมงานรวมถึงประชาชนคนอื่นด้วยหากพนักงานไปขับรถ ดังนั้นบทลงโทษที่ดีที่สุดคือการสั่งพักงานพนักงานคนนั้นโดยทันทีที่ผลสอบสวนได้ข้อยุติเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับพนักงานคนอื่นๆต่อไป

6. ลักลอบขโมยทรัพย์สินของทางบริษัท และเพื่อนร่วมงาน
เรื่องนี้คือปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดของพนักงานในทุกๆบริษัทเนื่องจากมันส่งผลเสียหายที่รุนแรงมากในการดำเนินธุรกิจ การขโมยทรัพย์สินทั้งของบริษัทและเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้เลยไม่ว่าพนักงานผู้กระทำผิดจะอธิบายด้วยทฤษฏีไหนก็ตาม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นการสะท้อนและบ่งบอกถึงเจตนาในการกระทำได้โดยตรง บทลงโทษอย่างเดียวที่ต้องได้รับคือการไล่ออกและนอกจากนี้ยังควรต้องแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย เพื่อให้ได้คืนมาหรือทำการชดใช้ตามทรัพย์สินที่สูญหายไป

จริงอยู่ว่าการวางกฎระเบียบและกำหนดบทลงโทษทางวินัยของบริษัทขึ้น อาจจะไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาแต่ก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันและปราบปราม เพื่อลดปัญหาในที่ทำงาน และยังเป็นกฎเกณฑ์ให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานร่วมกันภายในบริษัทเดียวกันได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้การสร้างระเบียบวินัยในการทำงานยังเป็นสิ่งที่ควรจะต้องกระทำควบคู่กันไปด้วย โดยเริ่มต้นที่ตัวผู้ประกอบการก่อนเป็นคนแรกด้วยการปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีและน่าเคารพนับถือสำหรับลูกน้อง เพียงเท่านี้มาตรฐานและระเบียบวินัยในการทำงานของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นตามมาอย่างแน่นอน

ที่มา : incquity.com
ความรู้อื่นๆ เพิ่มเติม ได้ที่ www.impressionconsult.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

5 มิติคุณภาพบริการ

10 มิติคุณภาพบริการ

เทคนิคมีบุคลิกภาพที่ดีในที่ทำงาน