เจองานที่ใช่ แต่เงินเดือนไม่ใช่ ควรจะเลือกอะไรดี


มีคำคมในยุคสมัยหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ทำให้ชวนคิดกันมาโดยตลอดว่า ความสุขจากการทำงานนั้น หมายถึง “เงิน” อย่างเดียวเลยหรือ?  องค์ประกอบของความสุขในชีวิตเราในด้านอื่นๆ ควรจะถูกคำนึงถึงด้วยหรือไม่ และควรถูกคำนึงถึงมากน้อยเพียงไร?

ถ้าจะพูดกันแบบตรงๆ ไม่ใช่พวกโลกสวย คงต้องยอมรับว่าค่าตอบแทน หรือเงินค่าจ้าง นั้นสำคัญมากในการทำงาน ก็แน่ล่ะสิ เราทำงานเพื่อให้ได้เงินไม่ใช่ไปทำการกุศล ถึงจะได้เท่าไหร่ก็รับมาแบบไม่คิดอะไร แต่ความสุขที่ได้จากการทำงานในทุกวันก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อย เพราะเราคงไม่สามารถจะมีความสุขได้แค่วันเงินเดือนออกเพียงวันเดียว! แล้วเราจะพิจารณาจากอะไรเป็นสำคัญถ้าเจองานที่ใช่ แต่เงินไม่ไหวจะเคลียร์ หรือ งานที่ค่าตอบแทนสูงลิบลิ่ว แต่ต้องทนนั่งหน้านิ่วเพราะความเครียด ลองมาดูกันดีกว่า ถ้าเราเจอกับภาวะแบบนี้ จะตัดสินใจจากอะไรดี

1. ความจำเป็นของ “เงิน” ต่อการดำรงชีพของคุณ
ความชอบเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจเรา เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข และมีแรงบันดาลใจในการมีชีวิตอยู่ แต่เงินก็ไม่ใช่ไม่จำเป็น ถ้าคุณไม่ได้เดือดร้อนอะไรในชีวิต บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ หนี้สินไม่มีให้ผ่อน แล้วจะคิดอะไรมาก งานที่ใช่ ทำให้คุณรู้คุณค่าของชีวิต ทำให้เรามีแรงตื่นขึ้นไปทำงาน ทำให้เราไม่กลัววันจันทร์ และอื่นๆ อีกมากมาย เลือกงานที่ใช่ไปเลยอย่าคิดมาก แต่ถ้าคุณมีภาระเยอะ ต้องรับผิดชอบชีวิตคนที่อยู่ข้างหลังหลายคน อาจต้องลองค่อยๆ คิดทบทวน ว่างานที่ใช่จะสามารถ cover ในส่วนที่คุณต้องจ่ายได้หรือไม่ ถ้าไม่ไหวจริงๆ เงินก็ต้องมาก่อน ก็ต้องรับสภาพไป ความจนมันน่ากลัว

2. ระดับความชอบของคุณที่มีต่องานที่ได้รับข้อเสนอ
คำว่าใช่ ก็หมายถึงความชอบในปริมาณที่มากพอที่มีต่อสิ่งนั้น และก็ต้องชอบในเกือบทุกสิ่งอย่างด้วย แบบประมาณว่า โอ้ ช่างคลิกเหลือเกิน คิดง่ายๆ งานก็เหมือนแฟน เวลาที่เราเจอคนที่ใช่ เราจะรู้สึกได้ทันที งานก็เช่นกัน ถ้าเรารู้สึกได้ถึงเคมีกับงานไหนเป็นพิเศษ ก็อย่ารอช้า ถึงค่าตอบแทนอาจน้อยกว่าที่ต้องการไปเสียหน่อย แต่ถ้าเราได้ทำงานที่ใช่ เรามักจะทำได้ดี แล้วพอเราทำได้ดี ความก้าวหน้าจะมาหาเราทันที ดีกว่าไปเลือกงานที่เงินเยอะแต่เราไม่มี passion ด้วย ทำไปวันๆ เช้าชามเย็นชาม สุดท้ายก็คงไม่ก้าวหน้าไปไหน ช่วงแรกได้เยอะ แต่ไม่ขยับขึ้นอีกเลยก็ไม่ไหวนะยู เราต้องคิดถึงอนาคตด้วย

3. ความก้าวหน้าในอนาคต
ความก้าวหน้าในการทำงาน เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับต้นๆ ของการเลือกงานไม่แพ้ความชอบ และค่าตอบแทน ถ้างานที่เราชอบ เงินไม่น้อยจนน่าเกลียด อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ และประเมินดูว่ามีอนาคต แนะนำว่าให้เลือกงานที่ใช่ก่อนค่าตอบแทนที่มากกว่าในช่วงแรก เพราะถ้าคุณได้ทำงานที่ใช่ ความเจ๋งในตัวคุณจะส่องประกายออกมาเอง ในเวลาไม่นาน คุณจะได้รับโอกาส และค่าตอบแทนที่มากขึ้นแน่นอน ทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วทุกอย่างจะดีเอง

4. ต่อรองเพิ่มเติม
ถ้ารู้สึกว่าเจองานที่ใช่จริงๆ แต่ติดที่เรทค่าตอบแทน ลองเจรจาต่อรองอีกสักตั้งกับทางต้นสังกัดก็ไม่เสียหาย แต่ก็อย่าต่อรองในเรทที่เกินจริงมากไป จนองค์กรรู้สึกว่าคุณกำลังโก่งค่าตัว วิธีที่ดูโอเคอีกวิธีก็ยกตัวอย่างเช่น คุณจะขอพิสูจน์ฝีมือและความสามารถในตำแหน่งนี้ในระยะทดลองงาน ถ้าหากว่าผลงานเข้าตากรรมการแล้วจะขอขยับขึ้นอีกก็ว่ากันไปให้เหมาะสมกับผลงาน

5. ขอรับเป็น freelance
ถ้าชอบมาก แต่เงินไม่สู้จริงๆ แล้วทางนายจ้างก็ชอบคุณ ลองหาทางออกอื่น ๆ ร่วมกันอีก เผื่อจะมีความเป็นไปได้ ยกตัวอย่างเช่น การจ้างงานแบบฟรีแลนซ์เป็นจ็อบ ๆ ไป แล้วคุณก็เอาเวลาที่เหลือไปหางานเพิ่มอีก เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่คุณคิดว่าจะสามารถดำรงชีพได้แบบไม่ลำบาก และยังได้มีโอกาสทำงานที่ใช่ไปในคราวเดียวกันอีกด้วย แต่วิธีการนี้ไม่ได้ใช้ได้กับทุกบริษัท อาจจะต้องลองลุ้น ลองคุยกันเป็นกรณีๆ ไป เพราะส่วนใหญ่องค์กรจะอยากได้คนที่สามารถให้เวลางานกับองค์กรได้อย่างเต็มอัตรามากกว่าที่จะจ้างเป็นลักษณะฟรีแลนซ์ เว้นแต่ว่างานนั้นๆ สามารถทำได้โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิส แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นลองคุยดูก่อนก็ไม่มีอะไรเสียหายอยู่แล้ว อย่าไปกลัว

6. ปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สุดท้าย ถ้าเลือกไม่ได้จริงๆ ระหว่างแค่ 2 หัวข้อ อันได้แก่ ความชอบ และเงิน ก็ขอให้พิจารณาถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิเช่น วัฒนธรรมองค์กร ทีมงาน และหรือระยะทางระหว่างที่พักถึงอาคารที่ทำงาน ฯลฯ บ่อยครั้ง ปัจจัยอื่นๆ ก็ส่งผลกระทบต่อความชอบของเราที่มีต่อตัวงานนั้นๆ ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น งานนี้ชอบมาก แม้ค่าตอบแทนน้อยก็พอไหว แต่พิจารณาอีกนิด โอ๊ยตายแล้ว บ้านเราอยู่ฝั่งธน แต่ต้องไปทำงานที่รามอินทรา จะไหวมั้ย ถามใจตัวเองดู เป็นต้น

สรุปแล้ว คงไม่มีสูตรสำเร็จว่าควรจะเลือกงานจากความชอบ หรือค่าตอบแทนเป็นหลัก เพราะองค์ประกอบ และข้อแม้ในการตัดสินใจของคนแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน คงจะดีที่สุดถ้าเราได้ทำงานที่ชอบในค่าตอบแทนที่เหมาะสม แต่ถ้า 2 อย่างไม่ได้มาพร้อมกันในเวลาเดียวกัน เราอยากให้คุณลองตัดสินใจดูดีๆ โดยยึดตัวเองเป็นหลัก คำวิจารณ์ของคนอื่นอย่าไปยึดติดให้มากมาย เพราะสุดท้าย 8 ชม. ของแต่ละวัน ก็คือคุณคนเดียวที่จะต้องเผชิญหน้าด้วยตัวเอง ฟังหัวใจตัวเองดีที่สุด

ที่มา : th.jobsdb.com
ความรู้อื่นๆ เพิ่มเติม ได้ที่ www.impressionconsult.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

5 มิติคุณภาพบริการ

10 มิติคุณภาพบริการ

เทคนิคมีบุคลิกภาพที่ดีในที่ทำงาน