พฤติกรรมพนักงานที่สมควรได้รับบทลงโทษ


พนักงานคนไหนทำดีก็ควรได้รับเสียงปรบมือ หรือได้รางวัลเป็นขวัญกำลังใจ แต่ถ้าหากพนักงานคนไหนทำไม่ดี ก็ควรได้รับการตักเตือน เพื่อไม่ให้เกิดการทำผิดซ้ำสอง หรือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับพนักงานคนอื่นๆ เมื่อใดก็ตามที่มีการให้รางวัลพนักงาน หรือสร้างบทเรียนให้เห็น พนักงานก็จะรับรู้ได้ว่าสิ่งใดควรทำ และสิ่งใดไม่ควรทำ แต่ถ้าไม่รู้เจ้านายก็ควรจะชี้แจงให้รู้ว่าสิ่งที่ควรทำคืออะไร

เป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันว่าเมื่อพนักงานมีพฤติกรรมที่สมควรได้รับคำชม เจ้านายก็จะให้รางวัล แล้วพนักงานก็จะเกิดการจดจำ และทำสิ่งเหล่านั้นอีกครั้ง พวกเขาอาจไม่ได้ทำเพื่อหวังผลรางวัล แต่ทำเพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสามารถทำได้ อีกทั้ง เจ้านายก็จะเกิดความไว้วางใจ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีพนักงานที่ไม่เคยทำความผิด อาจจะมีบ้างบางครั้งที่ทำผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ

ในฐานะของเจ้านายซึ่งเป็นตัวแทนขององค์กร ต้องไม่ปล่อยให้การกระทำผิดของพนักงานเกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าหากถูกปล่อยผ่านเรื่องเล็กน้อยเหล่านั้น อาจกลายเป็นความผิดร้ายแรงได้ เจ้านายจึงควรหาวิธีจัดการและป้องกันความผิดเหล่านั้น โดยเริ่มสังเกตและพิจารณาว่าพฤติกรรมแบบไหนของพนักงานที่สมควรได้รับบทลงโทษ

ทำงานผิดพลาดบ่อยจนเกิดความเสียหาย
ความผิดพลาดจากการทำงานของพนักงานเป็นสิ่งที่สามารถให้อภัยได้ หากเป็นความผิดครั้งแรก เพราะเราต้องถือว่าเขายังไม่มีประสบการณ์ แต่หากเป็นความผิดด้วยเรื่องเดียวกัน เป็นครั้งที่สอง ครั้งที่สาม เราอาจจะต้องเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ความผิดพลาดด้วยเรื่องเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจไม่ใช่สัญญาณที่ดีนักในการทำงาน
บทลงโทษที่พนักงานควรจะได้รับ อาจไม่ต้องรุนแรงมาก เพียงแต่ตักเตือนให้เข้าใจถึงสถานการณ์ หรือสามารถพิจารณาให้ตัดเงินเดือนได้ หากความผิดนั้นรุนแรง หรือส่งผลกระทบที่ร้ายแรงกับบริษัท

เข้างานสายเป็นประจำโดยไม่แก้ไข
ความจำเป็นบางอย่างเกิดขึ้นได้ในทุกวันทำงาน บางครั้งพนักงานอาจจะเจอกับการจราจรติดขัด จนทำให้ต้องเข้างานสาย แต่เหตุการณ์นี้ต้องไม่เกิดทุกวัน หากเกิดทุกวันแสดงถึงความไม่ใส่ใจ และไม่กระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหาการมาสายของตัวเอง พนักงานประเภทนี้ก็ควรได้รับบทลงโทษ ไม่เช่นนั้นหากเจ้านายเพิกเฉยทุกครั้ง พนักงานก็จะไม่เกิดความเกรงใจทั้งเพื่อนร่วมงาน และไม่เกรงใจองค์กรด้วย ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจสร้างปัญหาที่ส่งผลต่อการทำงานขององค์กรได้
บทลงโทษที่พนักงานควรจะได้รับ เจ้านายจึงควรเริ่มตักเตือน ก่อนที่พนักงานจะรู้สึกว่ามาสายแค่นิดหน่อยไม่เห็นเป็นไร การลงโทษที่เหมาะสม คือ การเรียกมาตักเตือนและภาคทัณฑ์ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ปัญหาส่วนตัวส่งผลกระทบต่องาน
เมื่อไรก็ตามที่เรื่องส่วนตัวของพนักงานส่อแววว่าจะกลายเป็นปัญหา แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่นั่นหมายความว่าสิ่งนั้นกำลังจะส่งผลกระทบ และเป็นอุปสรรคในการทำงานด้วย เพราะเรื่องส่วนตัวจะส่งผลเสียในเรื่องของการทำงานอย่างมืออาชีพ หากพนักงานปล่อยให้ปัญหาเหล่านั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง แม้กระทั่งเวลาทำงาน ก็จะยิ่งทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ อาจเกิดการผิดพลาดในช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจ และส่งผลกระทบต่อองค์กรในที่สุด เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ให้เรียกพนักงานคนดังกล่าวมาตักเตือน และถามถึงปัญหาดังกล่าว หากไม่เกิดความรุนแรงมากนัก
การลงโทษดังกล่าวก็อาจจะเพียงพอแล้ว ไม่ควรลงโทษด้วยบทลงโทษที่รุนแรง เพราะพนักงานก็มีปัญหามากพออยู่แล้ว หากทำเช่นนั้น ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายไปกันใหญ่

ขโมยทรัพย์สินเพื่อนร่วมงานและบริษัท
ปัญหาการลักขโมยเป็นเรื่องที่รุนแรงมากที่สุดของพนักงานในหลาย ๆ บริษัท เพราะจะส่งผลเสียหายในแง่ของการดำเนินธุรกิจขององค์กรได้ อีกทั้ง การขโมยทรัพย์สินทั้งของบริษัท และเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ไม่ว่าพนักงานคนนั้นจะกระทำผิดด้วยเหตุผลใดก็ตาม พฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนเจตนา และจิตใต้สำนึกภายในจิตใจว่าเป็นคนเช่นไร ความไว้วางใจก็จะถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง

บทลงโทษจึงมีเพียงอย่างเดียว คือ การไล่ออก และนอกจากนี้ ยังต้องมีการแจ้งความดำเนินคดี เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายที่สูญหายไปด้วย

การตักเตือนจะช่วยให้พนักงานเข้าใจสถานการณ์ และรับรู้ว่าตัวเขาเองทำอะไรผิด ต้องปรับปรุงแก้ไขตัวเองอย่างไรบ้าง บางคนหากไม่มีการบอกกล่าวก่อนก็จะไม่รู้ว่าทำอะไรผิด และยังคงทำเรื่องนั้นต่อไป โดยไม่เกิดการปรับปรุงตัว เพราะเขารู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ในฐานะหัวหน้างานที่เป็นตัวแทนองค์กร ต้องมีการช่วยเหลือพนักงานด้วยการตักเตือน หรือมีบทลงโทษเล็กๆ น้อย เพื่อให้พนักงานยังอยู่ในกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องของบริษัท และทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีอุปสรรค

ที่มา :  jobsdb.com
ความรู้อื่นๆ เพิ่มเติม ได้ที่ www.impressionconsult.com
_______________________
029217921

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

5 มิติคุณภาพบริการ

10 มิติคุณภาพบริการ

เทคนิคมีบุคลิกภาพที่ดีในที่ทำงาน