คิดให้ดีก่อนลาจากสถานะลูกจ้างไปเป็น Startup

ฮอตกันเหลือเกินกับ “สตาร์ทอัพ” (Startup) การทำธุรกิจแนวใหม่ ที่โดนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบัน จริงๆ ในต่างประเทศ การทำธุรกิจลักษณะนี้มีมานานแล้ว และเริ่มเข้าสู่ประเทศไทยในยุคแรกๆ เมื่อสัก 2 ปีก่อน แต่ตอนนี้ถือได้ว่ากระแสแรงกว่าเก่า เพราะรัฐบาลไทยหันมาให้ความสนับสนุนอย่างจริงจังมากขึ้น

ก็คนหนุ่มสาวในยุคนี้ มีความต้องการจะประสบความสำเร็จในชีวิตด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว จะให้ทนรออยู่ในองค์กร แล้วไปใหญ่โตตอนใกล้เกษียณแบบคนยุคก่อนก็คงไม่ทันการณ์ ตอนนี้ก็เลยมีธุรกิจสตาร์ทอัพน้อยใหญ่เกิดขึ้นมากมาย อันเป็นเทรนด์ที่ทำให้พนักงานออฟฟิศในวัยไม่เกิน 40 หลายๆ ท่าน อยากกระโจนลงไปเปิดธุรกิจของตัวเองแทนที่จะทำงานออฟฟิศกินเงินเดือนไปวันๆ เช่นนี้

ถ้าเปิดโซเชี่ยลมีเดียขึ้นดู จะเห็นบรรดานักคิดรุ่นใหม่หลายท่าน หนังสือหลายเล่ม แนะนำให้คนรุ่นใหม่ ใช้ชีวิตแบบอายุน้อยร้อยล้าน คิดสิ ลองคิดดูว่าความชอบคุณคืออะไร ทำสิ ลองทำในสิ่งที่คุณรู้สึกว่าแตกต่าง ฯลฯ

คำถามคือ ในโลกแห่งความเป็นจริง และกระแสธุรกิจอันเชี่ยวกรากแบบนี้ เพียงแค่ความชอบ ความตั้งใจ กับมันสมองมันพอแล้วจริงๆ หรือ? เราอยากให้คุณลองวิเคราะห์ตัวเองดูก่อน ว่าคุณพร้อมหรือยัง? ที่จะลาออกจากวงจรชีวิตมนุษย์เงินเดือนไปเป็นสตาร์ทอัพ โดยจะขอฝากข้อคิดให้พิจารณาเพิ่มเติมดังนี้

1. เวลา
เห็นหลายคนชอบบอกว่าอยากทำธุรกิจส่วนตัว เพราะอยากมีเวลาเป็นของตัวเอง ถ้าคิดแบบนี้ละก็ผิดถนัดเลย ช่วงที่ธุรกิจยังตั้งไข่ ล้มลุกคลุกคลานเป็นสตาร์ทอัพนั้น คุณต้องทุ่มทั้งชีวิตให้มัน ทำงานออฟฟิศยังมีเสาร์อาทิตย์ แต่ทำธุรกิจต้องคิดทุกวัน ถ้ายังไม่สำเร็จบอกเลยว่าเวลาของตัวเองไม่ได้มีเยอะอย่างที่คิด

2. เงินทุน
สายป่านคุณยาวแค่ไหนในการทำธุรกิจ เงิน ใครบอกว่าไม่สำคัญ การต้องลาออกจากงานประจำที่มีรายได้มั่นคง มาปั้นธุรกิจของตัวเองแบบที่ยังไม่รู้รายได้นั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากๆ คือเรื่องทุน ลองคิดใน worst case scenario ถ้ายังไม่มีรายได้เข้าเลย คุณอยู่ได้นานกี่เดือน? รวมถึงเรื่องเงินเดือนที่ไม่แน่นอน และสวัสดิการต่างๆ ที่ต้องจ่ายด้วยตัวเอง อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ฯ

3. หุ้นส่วนและทีมงาน
ธุรกิจน่ะ ทำคนเดียวไม่ได้หรอก การที่คุณจะออกจากคอมฟอร์ทโซนของตัวเองไปนั้น มั่นใจแล้วหรือยังว่าคุณมีคนที่ร่วมอุดมการณ์ร่วมหัวจมท้ายกับคุณ ร่วมหุ้นเงินทุนกับคุณ รวมไปถึงทีมงานที่ไว้ใจได้ด้วย ไม่ง่ายนะ ว่าไหม?

4. ความเป็นไปได้ของไอเดีย
ไอเดียธุรกิจที่คุณมี มันตอบโจทย์ตลาดจริงๆ ใช่มั้ย มันทำได้จริงใช่หรือไม่ คุณจะสามารถทำเงินจนเกิดเป็นกำไรเลี้ยงตัวเองและทีมได้ใช่ไหม ถ้าใช่ก็ลุยเลย

5. ความอดทน และความพร้อม
การทำธุรกิจในช่วงต้นหรือที่เรียกว่า สตาร์ทอัพ ช่วงแรกมันไม่ได้ราบเรียบสดใดแบบใจคิด คุณอึดแค่ไหนที่จะฝ่าด่านอุปสรรคต่างๆ แล้วก้าวมข้ามผ่านตรงนั้นไป พร้อมแค่ไหน ถามใจตัวเองดู

ถ้าตอบคำถามทั้ง 5 ข้อทั้งหมดได้อย่างมั่นอกมั่นใจแล้วก็ ถือว่าคุณอุดรอยรั่วของการรันธุรกิจใหม่ได้เกือบครบ ถือว่าเตรียมแผนได้ดีแล้ว ก็ยื่นใบลาออกได้เลย เพราะคุณอาจกลายเป็นเศรษฐีใหม่ในช่วงเวลาไม่กี่ปี
แต่ถ้ายังขมุบขมิบ ตอบคำถามตัวเองได้แบบอ้อมแอ้ม และแค่เพียงโดนกระแสสังคมกดดันว่าทำงานออฟฟิศนั้นไม่เท่ห์อีกต่อไปแล้ว คงต้องทบทวนชีวิตดูใหม่อีกครั้ง ทำงานออฟฟิศจะดีแย่อย่างไร ปลายเดือนก็มีเงินเข้าที่เรารู้อยู่ตลอด แต่ทำธุรกิจนั้นมันอยู่ที่มันสมองกับสองมือ และดวงชะตาล้วนๆ คุณรับความเสี่ยงได้แค่ไหน เรื่องนี้น่าจะอยู่ที่เวลากับความพร้อมเป็นหลัก ไหน คิดให้ดีก่อนตัดสินใจ

ที่มา : th.jobsdb.com
บทความอื่นๆ เพิ่มเติม ได้ที่ www.impressionconsult.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

5 มิติคุณภาพบริการ

10 มิติคุณภาพบริการ

เทคนิคมีบุคลิกภาพที่ดีในที่ทำงาน