อุปนิสัย 7 ประการ ที่เราควรมี (7 Habits)


ก่อนที่จะเข้าสู่อุปนิสัยที่ดี เราต้องเริ่มจากการปรับมุมมอง หรือ มีการมีกรอบความคิดต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องก่อน  เพราะคนเราแต่ละคนจะมีกรอบความคิดที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น การเลี้ยงดูที่ผ่านมา ประสบการณ์ ทัศนคติ หรือ สภาพแวดล้อม  ซึ่งหากเรามีกรอบความคิดที่ผิดไปแล้ว เราก็จะตีความ หรือ ดำเนินชีวิตไม่ถูกต้องไปทั้งหมด เปรียบเหมือนการมีแผนที่ที่ผิด ก็จะนำทางเราไปสู่ความผิดพลาด
ดังนั้น สิ่งแรกเราต้องมั่นใจว่าเรามีกรอบความคิดที่ดี ที่ถูกต้อง ไม่มีอคติต่อสิ่งใด โดยเน้นความคิดที่สอดคล้องกับธรรมชาติ การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เช่น การมีความยุติธรรม ซื่อสัตย์ จิตใจบริการ ซื่อสัตย์ เป็นต้น (HIM-oknationblog)
ไปทำความเข้าใจกับนิสัยที่ดีทั้ง 7 ประการ จากหนังสือ “7 Habits for Highly Effective People”  หรือ "7 อุปนิสัย พัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูง" เขียนโดย สตีเฟน อาร์. โคว์วีย์

1. ต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำก่อน (Be Proactive)
คนที่อยู่ในประเภทที่เป็นผู้กระทำ จะเป็นผู้เลือกที่จะทำหรือจะไม่ทำสิ่งใดๆ ด้วยเหตุด้วยผลของเขาเอง คือคิดว่าตัวเองเป็นผู้กำหนดชีวิตของตน ทั้งนี้ด้วยการพิจารณาไว้ก่อน ไม่ใช่ว่าถึงเวลาแล้วค่อยคิดจะทำ เพราะสุดท้ายแล้วก็จะกลายเป็นผู้ถูกกระทำและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิม

2. เริ่มต้นโดยมีเป้าหมายชัดเจน (Begin with the end in mind)
คือการวางแผนการทำงาน หรือแม้แต่ชีวิตของคนเราไว้ตั้งแต่แรกเริ่มที่จะทำการอะไรใดๆ เพราะหากเราได้ตั้งใจไว้แล้วว่าในที่สุดแล้ว การงานหนึ่งๆ หรือชีวิตของเราจะมีลักษณะสุดท้ายเป็นอย่างไร เราก็จะทำตัวให้สอดคล้องกับจุดหมายนั้นโดยไม่ไขว้เขวไป

3. ทำสิ่งสำคัญกว่าก่อน (Put first things first)
ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะในชีวิตประจำวันเรานั้น อาจจะต้องมีกิจกรรมหลายอย่างที่จะต้องทำ บางอย่างนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ บางอย่างเป็นเรื่องไม่สำคัญ บางอย่างไม่เร่งด่วน บางอย่างเร่งด่วน ดังนั้นแล้ว สิ่งต่างๆ ในชีวิตอาจจะผสมกันออกมาเป็นได้หลายแบบคือ :
ก) สำคัญและเร่งด่วน – ต้องทำโดยเร็วที่สุด และต้องทำให้ดีด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดหากวางแผนไว้ดี
ข) สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน – เป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ดีที่สุด รีบทำเสียเนิ่นๆ จะได้ทำได้ดี และไม่กลายเป็นข้อ ก) ในที่สุด
ค) ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน – อันนี้แปลก ต้องรีบทำนะ แต่จริงๆ น่ะไม่ทำก็ได้ เช่นดูละครทีวีที่กำลังฉาย เป็นต้น
ง) ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน – ไม่ทำก็ได้ แต่หลายๆ คนก็ให้เวลากับตรงนี้อยู่มาก

4. ชอบคิดแบบชนะ-ชนะ (Think Win-Win)
การคิดและทำแบบ win-win นี้ จะต้องเกิดอยู่บนพื้นฐานของทัศนคติที่ดีและต้องการให้ได้ประโยชน์เท่าเทียม กันทั้งสองฝ่ายในระยะยาว ในบางครั้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะต้องเสียเปรียบก่อน แต่ในที่สุดแล้ว เมื่อดำเนินการตามแผนทั้งหมดแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะต้องได้ประโยชน์ทั้งคู่เท่าเทียมกัน

5. การพยายามเข้าใจคนอื่นก่อน (Seek first to understand then to be understood)
นิสัยนี้เป็นการที่เราพยายามเข้าใจคนอื่นก่อน เพราะการพยายามเข้าใจคนอื่นนั้น ง่ายกว่าการที่จะทำให้คนอื่นเขามาเข้าใจเรา หลักการที่จะทำให้เราเข้าใจคนอื่นได้ง่ายนั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการฟัง คือฟังอย่างพยายามทำความเข้าใจ เมื่อเราเข้าใจเขา เราก็จะรู้ว่าเขาคิดอย่างไร มีพื้นฐานอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ต่อมาเราจะพูดเพื่อให้เขาเข้าใจในส่วนของเราก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้น

6. ชอบประสานงานเพื่อเพิ่มพลัง (Synergize)
เมื่อใดก็ตามที่คนเราที่ร่วมงานกัน มีโอกาสได้ทำงานด้วยกัน ก็จะต้องยอมรับในความแตกต่างของคนอื่น และพยายามมองว่าความแตกต่างนั้นน่าจะมีประโยชน์มากกว่าโทษ และนำข้อดีของความแตกต่างนั้นมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้ด้วยกันเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาการทำงาน

7. ฝึกฝนตนเองให้พร้อมเสมอ (Sharpen the saw)
เมื่อคนเรามีความรู้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอ หากเมื่อใดที่หยุดคิดและพัฒนาตนเอง ก็เหมือนกับตายไปแล้วครึ่งหนึ่งนั่นเอง เรายังต้องพยายามฝึกฝนพัฒนาตัวเราเองเสมอ ด้วยวิธีการง่ายๆ คือ
ก) ดูแลสุขภาพทางกายให้ดี – เมื่อแข็งแรง จะคิดอะไร ทำอะไรก็ง่ายไปหมด
ข) บำรุงความคิด – โดยการอ่านหนังสือ ฟังสัมมนา ดูรายการสารคดี เป็นต้น
ค) พัฒนาจิตวิญญาณ – ทำจิตใจให้ผ่องใส อาจจะนั่งสมาธิ ฟังเพลงที่สงบ ทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน
ง) พัฒนาอารมณ์ – ให้เป็นคนดี เข้ากับคนอื่นได้ง่าย เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น โดยเฉพาะกับคนในครอบครัวใกล้ตัว

ที่มา : สยามอินโฟบิส
ความรู้อื่นๆ เพิ่มเติม ได้ที่ www.impressionconsult.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

5 มิติคุณภาพบริการ

10 มิติคุณภาพบริการ

เทคนิคมีบุคลิกภาพที่ดีในที่ทำงาน