6 วิธีเอาชนะความกลัวในการนำเสนองานหน้าที่ประชุม


“นำเสนองานดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” เคยได้ยินคำนี้ใช่ไหม? แต่ถ้าเกิดมาเป็นคนขี้อาย พูดน้อย ขาสั่นทุกครั้งที่ต้องอยู่ต่อหน้าคนจำนวนมาก พอจะต้องนำเสนองานหน้าที่ประชุมทีไร จะต้องประหม่าขาสั่น มือไม้เย็น พูดติดๆ ขัดๆ ไปซะทุกที เรียกได้ว่า ไม่ถูกกันกับการยืนนำเสนองานต่อหน้าคนเยอะๆ ก็ว่าได้ แบบนี้จะทำอย่างไร เรามี 6 เทคนิคดีๆ มาฝาก

1. เตรียมเนื้อหาให้พร้อมและทำความเข้าใจ

อย่างแรก เรามาเริ่มตั้งแต่เรื่องของการ เตรียมเนื้อหาให้พร้อมและทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่จะนำเสนอ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นที่เราต้องการนำเสนอ งานของเรา เราทำ เรารู้ เราเล่า ฉะนั้นไม่ว่าเนื้อหาจะยุ่งยากและซับซ้อนแค่ไหน แต่ถ้าตัวคนทำเข้าใจ มันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะถ่ายทอด ฉะนั้นก่อนนำเสนองานต่อหน้าที่ประชุม เช็คเนื้อหาให้ดี และทำความเข้าใจให้แม่น เก็บทุกเม็ด ทุกประเด็น เพราะนี่เป็นวิธีการเสริมความมั่นใจชั้นยอดเลยละ

2. จัดเรียงลำดับเนื้อหาที่ต้องการเล่า

การนำเสนองานก็เหมือนการเล่าเรื่อง ซึ่งนักเล่าเรื่องที่ดีจะต้องรู้จักการจัดลำดับว่าจะเล่าอะไรก่อนหรือหลัง เพราะแต่ละคนก็จะมีเทคนิคในการเล่าแตกต่างกันไป ฉะนั้นถ้าคุณอยากที่จะเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี อยากที่จะเอาชนะอาการขาสั่น ตัวชาต่อหน้าที่ประชุม คุณก็ต้องทำการบ้านหนักขึ้น ลองเรียงลำดับเนื้อหา อย่างเป็นขั้นเป็นตอนลงกระดาษ แล้วก็ซ้อมเล่าตามขั้นตามตอนที่วางไว้ ซ้อมจนแม่น รับรอง ต่อหน้าที่ประชุมคุณจะพูดได้คล่องอย่างแน่นอน

3. ทำความเข้าใจผู้ฟัง

นักฟุตบอลต้องรู้เท่าทันคู่แข่งฉันท์ใด เราจะนำเสนองานอะไรก็ต้องรู้เท่าทันผู้ฟังฉันท์นั้น ดังนั้นก่อนการนำเสนองาน เราต้องประเมินให้ได้ว่าผู้ฟังของเราวันนี้เป็นใคร อายุเท่าไหร่ ตำแหน่งอะไร และเขามีความต้องการอะไรจากงานของเรา เพราะเมื่อเราประเมินแล้วเราจะวิเคราะห์ได้ว่าเราควรพูดหรือนำเสนอย่างไร จะใช้ลูกล่อลูกชนแบบไหนให้คนเหล่านั้นเห็นพ้องต้องกันกับเรา งานนี้ทำการบ้านมาดีมีผ่านฉลุย

4. ซ้อมพูดหน้ากระจก

อีกหนึ่งเหตุผลของอาการขาสั่น หน้ามืดคล้ายจะเป็นลมเวลาที่ต้องนำเสนองานต่อหน้าผู้คน ก็คือเราไม่รู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไรเวลาอยู่ต่อหน้าคนจำนวนมาก ฉะนั้นเรามาลองซ้อมมองตัวเองผ่านกระจกกันก่อน ไม่ต้องเขินค่ะ ถ้าอยากนำเสนองานอย่างมืออาชีพ ซ้อมตั้งแต่จะยิ้มแบบไหน จะยืนอย่างไร จังหวะในการใช้มือจะใช้แบบไหน เวลาเจอคำถามเราจะตอบโต้ด้วยสีหน้าแบบไหน ซ้อมบ่อยๆ พอถึงเวลานำเสนองานจริง ความกลัวจะหายไปอย่างอัตโนมัติ

5. เชื่อในผลงานของตัวเอง
เมื่อซ้อมผ่านกระจกจนเชื่อมั่นในตัวเองแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญก็คือการเชื่อมั่นในผลงานของตัวเอง แน่ละ ก็เราทำมา เราคิดมา ถ้าเราไม่เชื่อมั่นแล้วใครจะเชื่อ มันเหมือนการใช้ครีมทาหน้ายี่ห้อใหม่แล้วมีคนชมว่าหน้าเราใสขึ้น สวยขึ้น เราก็พร้อมจะนำเสนอว่าเราไปใช้อะไรมา แบบนั้นเลย จากนั้นลองจำลองความรู้สึกเหล่านั้นมาใช้สร้างความเชื่อมั่นในผลงานเราแล้วตอนเล่าคุณจะเล่าอย่างภูมิใจจนลืมความประหม่าทั้งหมดไปเลย

6. ฝึกเล่าเรื่องให้เก่ง

ไม่ได้ล้อเล่นหรอก เพราะการเล่าเรื่องนั้นเป็นเหมือนพื้นฐานของการเล่าเรื่องทุกอย่าง ฉะนั้นถ้าคุณลองทำทั้ง 5 ข้อที่พูดมาแล้วก็ยังกลัวการนำเสนองานอยู่ละก็ ลองตั้งต้นโดยการฝึกเล่าเรื่องอย่างจริงจัง อาจเล่าให้หลานๆ ที่บ้านฟังก่อน ดูปฏิกิริยาว่าพวกเขาสนุกกับเราไหม จากนั้นเริ่มออกไปเล่าตามสถานเลี้ยงเด็ก ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการจำลองการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก เด็กๆ จะทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น มั่นใจมากขึ้น และเมื่อคุณทำได้ การนำเสนองานครั้งต่อไปก็ง่ายขึ้นแล้ว

ที่จริงการนำเสนองานไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะเอาเข้าจริงมันมีภาวะความกดดันหลายๆ อย่างเยอะไปหมด มันจึงไม่แปลกที่คุณจะมือชา ขาสั่น แต่เราอยากจะบอกทุกคนว่า ที่จริงแล้วการนำเสนองานอย่างมืออาชีพนั้นไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์ แต่มันเป็นเรื่องของพรแสวง เพราะมันไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดมาพร้อมกับความมั่นใจในการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก ที่เราเห็นว่าเขาขายเก่ง นำเสนอเก่ง แต่ละคนล้วนผ่านการฝึกฝนมาแล้วหลายสนามทั้งนั้น คิดง่ายๆ ขนาดนักพูดระดับประเทศยังต้องฝึกซ้อมตั้งหลายรอบก่อนขึ้นเวที แล้วแบบนี้อย่างเราจะไปเหลืออะไร ฉะนั้นฝึกฝนและเชื่อมั่น วันหนึ่งคุณจะนำเสนองานต่อหน้าที่ประชุมได้ดีอย่างแน่นอน

cr. jobsdb.com
ความรู้อื่นๆ เพิ่มเติม ได้ที่ http://www.impressionconsult.com/web/index.php/articles4/article-service.html
_______________________
www.impressionconsult.com
029217921

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

5 มิติคุณภาพบริการ

10 มิติคุณภาพบริการ

เทคนิคมีบุคลิกภาพที่ดีในที่ทำงาน